ทำไม “ครูไทยต้องกู้” กว่า 80% แบกรับภาระหนี้สินมหาศาล

“หนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา”เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกและสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ว่าจะวันครู หรือวันไหนๆ

รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กรมส่งเสริมสหกรณ์ รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ให้เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเร่งด่วน เพื่อลดความเดือดร้อน โดยมีเป้าหมายให้ครูได้ชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือการรวมหนี้ครูไว้ในสถาบันการเงินแหล่งเดียว กำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับการผ่อนชำระหนี้ของครูให้ได้มากที่สุด

ข่าวการศึกษา

ต่อมาในปี 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาช่วยแก้ไขปัญหา ตามวาระแห่งชาติการแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการที่กำหนดขึ้น

โดยเมื่อต้นเดือน ธ.ค.2565 ‘เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา’ ออกมารณรงค์ให้ครูทั่วประเทศที่ถูก ‘หักเงินเดือนหน้าซอง’ จนเหลือเงินใช้ไม่ถึง 30% ต่อเดือนออกมาโชว์ ‘สลิปเงินเดือน’ ของตนเองผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อสะท้อนให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องรับรู้ถึงปัญหาดังกล่าว

พร้อมทั้งเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะ “นายจ้าง”ของครูทั่วประเทศ สั่งการให้มีการบังคับใช้ระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนเพื่อการชำระหนี้สวัสดิการและสหกรณ์ปี 2551 อย่างเคร่งครัดสะท้อนสภาพความรุนแรงของปัญหาหนี้สินครูที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน

ขณะที่ด้าน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้กำหนดให้มีสถานีแก้หนี้ครู 558 สถานี ในระดับจังหวัด ตลอดจนเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษาที่เป็นหน่วยหักเงิน ณ ที่จ่ายระดับจังหวัด ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบให้เกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม